Second International (1889-1914)

องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๓๒-๒๔๕๗)

องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าสากลที่ ๒ เป็นสหพันธ์ของพรรคการเมืองสังคมนิยมและสหภาพแรงงานต่าง ๆ ที่มีบทบาทและอิทธิพลด้านอุดมการณ์ นโยบาย และแนวทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองของขบวนการแรงงานยุโรปในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ถึง ค.ศ. ๑๙๑๔ เป็นองค์การกลางของกรรมกรนานาชาติของยุโรปในการดำเนินงานเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทุกรูปแบบของกรรมกรและการเสริมสร้างความสามัคคีระหว่างกรรมกรประเทศต่าง ๆ เพื่อทำให้แนวความคิดลัทธิสากลนิยมชนชั้นกรรมาชีพ (Proletariat International) เป็นที่ยอมรับกันในขบวนการสังคมนิยม องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ มีสมาชิกประมาณ ๙,๐๐๐,๐๐๐ คน และมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม ผลงานที่สำคัญและโดดเด่นของสากลที่ ๒ คือ การประกาศใน ค.ศ. ๑๘๘๙ ให้วันที่ ๑ พฤษภาคม เป็นวันแรงงานสากลและประกาศใน ค.ศ. ๑๙๑๐ ให้วันที่ ๘ มีนาคม เป็นวันสตรีสากล (International Women’s Day) องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๘๙ ถูกยุบเลิกใน ค.ศ. ๑๙๑๖ เนื่องจากพรรคการเมืองสังคมนิยมของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปที่เป็นสมาชิกขัดแย้งกันเกี่ยวกับนโยบายสงคราม

 หลังการยุบเลิกขององค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๑ (First International ค.ศ. ๑๘๖๔-๑๘๗๖)* ใน ค.ศ. ๑๘๗๖ เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งภายในองค์การและการดำเนินงาน กลุ่มนักสังคมนิยมแนวทางลัทธิมากซ์ (Marxism)* และกลุ่มกรรมกรหัวก้าวหน้าที่เคยเป็นสมาชิกของสากลที่ ๑ ก็พยายามประสานงานและรวมกำลังกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองขึ้นในประเทศยุโรปหลายประเทศ คาร์ล มากซ์ (Karl Marx)* และฟรีดริช เองเงิลส์ (Friedrich Engels)* ผู้นำขบวนการสังคมนิยมยุโรปยังคงให้การชี้นำทางการเมืองแก่ขบวนการกรรมกรและกลุ่มการเมืองสังคมนิยมซึ่งเพิ่งจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองขึ้นได้ในประเทศยุโรปเหล่านั้น ทั้งมากซ์และเองเงิลส์เรียกร้องให้พรรคการเมืองสังคมนิยมและสหภาพแรงงานของกรรมกรร่วมมือกันเพื่อผลักดันการก่อตั้งองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ ขึ้น ระหว่างปลายทศวรรษ ๑๘๗๐ ถึงต้นทศวรรษ ๑๘๘๐ มีการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองสังคมนิยมและขบวนการกรรมกรให้ก่อตั้งองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ ขึ้นหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากเงื่อนไขทางการเมืองทั้งในและนอกประเทศยุโรปต่าง ๆ ยังไม่เอื้ออำนวย อย่างไรก็ตาม เมื่อพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือเอสพีดี (German Social Democratic Party-SPD)* ซึ่งเป็นพรรคการเมืองสังคมนิยมรุ่นบุกเบิกของขบวนการสังคมนิยมยุโรปมีบทบาทมากขึ้นในวงการเมืองของจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* และ ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นจากประชาชนจนดูเหมือนว่าเยอรมนีอาจเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ขบวนการสังคมนิยมสามารถยึดอำนาจทางการเมืองได้ พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันจึงเป็นแกนนำจัดการประชุมใหญ่ขึ้นที่รูเปอแตรล (Rue Petrelle) ในกรุงปารีสใน ค.ศ. ๑๘๘๙ โดยกลุ่มสังคมนิยมอิสระชาวฝรั่งเศสเป็นฝ่ายประสานงาน

 การประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองสังคมนิยมต่าง ๆ ในยุโรปมีขึ้นที่กรุงปารีสเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๘๙ ซึ่งเป็นวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีของการทลายคุกบาสตีย์ (Fall of the Bastille)* ที่ถือเป็นวันเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789)* วัตถุประสงค์สำคัญของการประชุมใหญ่ครั้งนี้คือการสถาปนาองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ ขึ้นเพื่อสืบทอดแนวนโยบายและอุดมการณ์ของสากลที่ ๑ มีผู้แทนจากพรรคการเมืองสังคมนิยมและสหภาพแรงงานในยุโรปเข้าร่วมประชุมจาก ๒๐ ประเทศ รวม ๓๙๑ คนซึ่งรวมทั้งผู้แทนสหภาพแรงงานชาวอเมริกัน ๔ คน และผู้แทนจากฝรั่งเศสมีจำนวนมากที่สุด นับเป็นการประชุมใหญ่ระหว่างประเทศครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ขบวนการแรงงานโลกและเป็นข่าวใหญ่ที่ได้รับความสนใจทั่วทั้งยุโรป การประชุมใหญ่ครั้งนี้ยังเป็นที่รวมศูนย์ของนักสังคมนิยมชาวยุโรป เช่น คาร์ล ลีบเนชท์ (Karl Liebknecht)* โรซา ลักเซมบูร์ก (Rosa Luxemburg)* เอากุสท์ บาเบล (August Babel) คลารา เซทคิน (Clara Zetkin)* เอดูอาร์ แวย็อง (Édouard Vaillant) ชูล แกด (Jules Guesde) เกออร์กี เปลฮานอฟ (Georgi Plekhanov)* และปีเตอร์ ลัฟรอฟ (Peter Lavrov)*

 ที่ประชุมใช้เวลาส่วนใหญ่พิงรายงานที่ผู้แทนประเทศต่าง ๆ นำเสนอ รายงานดังกล่าวให้ภาพรวมสังเขปของขบวนการสังคมนิยมที่กำลังเติบโตและมีอนาคตอันสดใสเพราะสหภาพแรงงานกำลังขยายตัว และพรรคสังคมนิยมก็ได้รับการจัดตั้งขึ้นสำเร็จในหลายประเทศในยุโรป ทั้งนักสังคมนิยมก็ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนในรัฐสภาเยอรมันเดนมาร์ก และประเทศอื่น ๆ แต่เนื่องจากมีการเสนอรายงานเป็นจำนวนมาก ดังนั้น มติต่าง ๆ ที่ที่ประชุมเห็นชอบจึงไม่ใช้เวลาอภิปรายกันมากนัก มติสำคัญ ๆ ที่ที่ประชุมเห็นชอบ ได้แก่ การสนับสนุนระบบการทำงานวันละ ๘ ชั่วโมง การให้ยุบกองทัพประจำการและการให้ประชาชนติดอาวุธรวมทั้งการสนับสนุนแนวทางการต่อสู้ทางการเมืองผ่านกระบวนการเลือกตั้งโดยไม่ร่วมมือเป็นพันธมิตรกับพรรคการเมืองใด ๆ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม มติสำคัญที่สุดที่มีการอภิปรายกันมากคือ การประกาศให้วันที่ ๑ พฤษภาคม เป็นวันเดินขบวนสำแดงพลังของกรรมกร ผู้แทนสังคมนิยมฝรั่งเศสได้เสนอเรื่องดังกล่าวให้ที่ประชุมพิจารณาเพื่อเป็นการสนับสนุนการนัดหยุดงานทั่วไปเพื่อเรียกร้องการทำงานวันละ ๘ ชั่วโมงที่สหพันธ์กรรมกรอเมริกันกำหนดจะจัดขึ้นในวันที่ ๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๙๐ หลังการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ที่ประชุมมีมติให้วันที่ ๑ พฤษภาคม เป็นวันเดินขบวนสำแดงพลังของกรรมกรทั่วโลกและให้กรรมกรในประเทศต่าง ๆ จัดการเดินขบวนของตนขึ้นตามเงื่อนไขของแต่ละประเทศ มติดังกล่าวจึงทำให้วันที่ ๑ พฤษภาคม เป็นวันสำแดงพลังสู้รบอันยิ่งใหญ่เพื่อระลึกถึงและเป็นที่มาของวันหยุดประจำปีของมวลกรรมกรโลก

 แม้การประชุมใหญ่ ค.ศ. ๑๘๘๙ จะชี้ให้เห็นว่าลัทธิมากซ์ยังคงเป็นอุดมการณ์หลักที่พรรคการเมืองสังคมนิยมและขบวนการกรรมกรต่าง ๆ ยึดมั่น แต่ที่ประชุมก็ไม่ได้ผูกมัดตนเองกับพันธกิจที่มีต่อการก่อการปฏิวัติเพื่อยึดอำนาจทางการเมือง เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์ระหว่างประเทศยังไม่เอื้ออำนวยและระบบทุนนิยมยังคงแข็งแกร่ง การก่อการปฏิวัติจึงไม่ถือเป็นเรื่องหลัก ที่ประชุมมีมติให้เคลื่อนไหวเพื่อภารกิจเร่งด่วนเฉพาะหน้าของการต่อสู้ทางชนชั้นในขณะนั้นด้วยการต่อสู้กับลัทธิทหารนิยมการเรียกร้องการทำงานวันละ ๘ ชั่วโมง การขยายสิทธิการเลือกตั้งแก่กรรมกร การออกกฎหมายควบคุมโรงงานและการก่อตั้งสหภาพแรงงาน รวมทั้งการจัดตั้งสหกรณ์และพรรคสังคมนิยมของกรรมกรขึ้น ที่ประชุมจึงไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องการจัดตั้งองค์การบริหารกลางระหว่างประเทศหรือสภาบริหารทั่วไป (General Council) ขึ้นเพื่อดำเนินงานในระหว่างสมัยการประชุมใหญ่แต่ละครั้งผลที่ตามมาคือองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ ที่เพิ่งสถาปนาขึ้นไม่มีคณะกรรมการบริหารกลางชี้นำในระดับระหว่างประเทศ ไม่มีกองอำนวยการระดับโลก และขาดสิ่งตีพิมพ์ เช่น วารสารหรือหนังสือพิมพ์ระหว่างประเทศที่จะเป็นสื่อถ่ายทอดและชี้นำหลักนโยบายทางการเมืองทั้งไม่มีการติดตามผลการปฏิบัติตามมติตลอดจนไม่มีแม้กระทั่งชื่อที่เป็นทางการ การดำเนินงานขององค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๐-๑๙๐๐ จึงขาดความเป็นเอกภาพในการเคลื่อนไหวทางสากลและไม่มีแนวนโยบายที่ชัดเจน

 ในช่วงเวลาเดียวกับที่มีการประชุมใหญ่อยู่นั้น กลุ่มนักสังคมนิยมที่เรียกชื่อว่า “พวกเป็นไปได้” (Possibilist) ซึ่งเชื่อว่าการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมสามารถบรรลุจุดมุ่งหมายได้ภายใต้กรอบกฎหมายของพวกนายทุนก็จัดการประชุมขึ้นที่กรุงปารีสด้วย การจัดประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์จะจัดตั้งองค์การกรรมกรระหว่างประเทศหรือกรรมกรสากลที่ ๒ ขึ้น และนับเป็นการท้าทายพวกลัทธิมากซ์ที่กำลังชี้นำแนวทางปฏิวัติลัทธิมากซ์ แม้จะมีความพยายามอย่างเต็มที่ที่จะให้มีการรวมตัวกันระหว่างองค์การสากลทั้งสองแต่ก็ล้มเหลวทั้งก่อนและในระหว่างการประชุม เองเงิลส์ เป็นแกนนำในการต่อต้านเรื่องการรวมตัวกันอย่างมาก อย่างไรก็ตาม อีก ๒ ปีต่อมาในการประชุมใหญ่ขององค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ ที่กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม ค.ศ. ๑๘๙๑ องค์การทั้งสองก็รวมตัวกันได้ในที่สุด “พวกเป็นไปได้” ซึ่งต่อมาถูกเรียกว่า “พวกลัทธิฉวยโอกาสเอียงขวา” (Right Opportunists) มีส่วนสร้างปัญหาความขัดแย้งภายในสากลที่ ๒ ในเวลาต่อมา เพราะพยายามเคลื่อนไหวทางความคิดเรื่องการปฏิรูปสังคมด้วยแนวทางสันติในวิถีประชาธิปไตยทางรัฐสภา

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๓-๑๙๐๓ องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ จัดประชุมใหญ่อีก ๓ ครั้ง คือ ค.ศ. ๑๘๙๓ ค.ศ. ๑๘๙๖ และ ค.ศ. ๑๙๐๐ การประชุมใหญ่ครั้งที่ ๓ ของสากลที่ ๒ ใน ค.ศ. ๑๘๙๓ ที่นครซูริก เป็นการพิจารณาแนวนโยบายทั่วไปที่กำหนดให้พรรคสังคมนิยมในประเทศยุโรปต่าง ๆ นำไปปรับใช้เป็นนโยบายทางการเมือง มติสำคัญของการประชุมครั้งนี้คือ การเลือกฟรีดริช เองเงิลล์เป็นประธานกิตติมศักดิ์ขององค์การ และการสถาปนาสหพันธ์ช่างโลหะระหว่างประเทศ (International Metalworkers Federation) ขึ้นซึ่งในเวลาต่อมามีประเทศต่าง ๆ เข้าเป็นสมาชิกจำนวนมาก ในการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๔ ค.ศ. ๑๘๙๖ ที่กรุงลอนดอน มติสำคัญของที่ประชุมคือการต่อต้านลัทธิอาณานิคมและการเน้นสิทธิของประชาชาติในการเลือกกำหนดการปกครองตนเอง ในการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๕ ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๐๐ ที่กรุงปารีส ที่ประชุมได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางถึงภัยคุกคามของสงครามที่กำลังก่อตัวขึ้นในยุโรปและอันตรายของลัทธิทหารที่กำลังมีบทบาทมากขึ้นในประเทศต่าง ๆ โรซา ลักเซมบูร์ก ผู้นำปีกซ้ายของพรรคสังคมประชาธิบไตยเยอรมันได้เสนอมาตรการสำคัญ ๓ ขั้นตอนในการเคลื่อนไหวต่อสู้คือให้การศึกษาและจัดตั้งเยาวชนให้มีความคิดทางการเมืองให้สมาชิกพรรคสังคมนิยมในรัฐสภามีมติคัดค้านการอนุมัติงบประมาณแก่ฝ่ายทหาร และในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ระหว่างชาติขึ้นให้มีการสำแดงพลังต่อต้านสงครามที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์กับข้อเสนอของลักเซมบูร์ก

 มติสำคัญอีกประการหนึ่งของการประชุมครั้งนี้ คือ การจัดตั้งสำนักงานสังคมนิยมสากล (International Socialist Bureau) ขึ้น โดยมีสำนักเลขาธิการที่กรุงบรัสเซลส์ สำนักงานสังคมนิยมสากลทำหน้าที่เป็นองค์การบริหารกลางระหว่างประเทศ ประกอบด้วยผู้แทนของประเทศสมาชิกประเทศละ ๑-๒ คน รวมทั้งหมดประมาณ ๕๐-๖๐ คน กำหนดให้มีการประชุมปีละ ๔ ครั้งเพื่อหา แนวทางการเคลื่อนไหวทั่วไปและพิจารณาปัญหาข้อพิพาทระหว่างพรรคสังคมนิยมในประเทศต่าง ๆ ตลอดจนเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานและการเคลื่อนไหวของกรรมกรในนานาประเทศ แม้การดำเนินงานของสำนักงานสังคมนิยมสากลจะล้าหลังกว่าสภาบริหารทั่วไปขององค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๑ อย่างมากเพราะไม่สามารถชี้นำให้พรรคสังคมนิยมต่าง ๆ นำมติไปปฏิบัติได้ทั้งหมดเนื่องจากพรรคสังคมนิยมเหล่านั้นไม่ยอมรับการชี้นำนโยบายจากองค์การกลางอย่างเด็ดขาด ทั้งยังคงความเป็นอิสระในการเคลื่อนไหวภายในประเทศของตนการดำเนินงานของสำนักงานสังคมนิยมสากลจึงขาดความเข้มแข็งและเปิดโอกาสให้พวกลัทธิฉวยโอกาสเอียงขวาในองค์การเสนอแนวทางการเข้าสู่สังคมนิยมอย่างค่อยเป็นค่อยไปซึ่งเป็นการหักล้างแนวความคิดลัทธิมากซ์ จนทำให้แนวความคิดลัทธิแก้ (Revisionism) ก่อตัวขึ้นในสากลที่ ๒ ในการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๔ นี้ กลุ่มลัทธิมากซ์รัสเซียที่เข้าร่วมประชุมด้วยรวม ๒๘ คนขัดแย้งกันในการเสนอผู้แทนเข้าเป็นสมาชิกของสำนักงานสังคมนิยมสากล วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* นักลัทธิมากซ์หนุ่มไฟแรงเคลื่อนไหวสนับสนุนเกออร์กี เปลฮานอฟ และฝ่ายตรงข้าม เลนินเสนอบอริส ครีเชฟสกี (Boris Krichevsky) บรรณาธิการวารสาร Rabocheye Dyelo เปลฮานอฟได้รับเลือกเป็นผู้แทนกลุ่มลัทธิมากซ์รัสเซีย แต่ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบสำคัญในเวลาต่อมาเพราะทำให้พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (Russian Social Democratic Labour Party-RSDLP)* ที่จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๐๓ แตกแยกเป็น ๒ กลุ่ม คือ บอลเชวิค (Bolsheviks)* และเมนเชวิค (Mensheviks)*

 ใน ค.ศ. ๑๙๐๔ องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ จัดประชุมใหญ่ครั้งที่ ๖ ขึ้นที่กรุงอัมสเตอร์ดัม (Amsterdam) เนเธอร์แลนด์ ในการประชุมใหญ่ครั้งนี้ เอดูอาร์ค แบร์นชไตน์ (Eduard Bernstein)* นักสังคมนิยมชาวเยอรมันเชื้อสายยิวซึ่งได้สมญาว่าบิดาแห่งลัทธิแก้ (Father of Revisionism) ได้เสนอแนวทางก้าวสู่สังคมนิยมอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยเรียกร้องความร่วมมือระหว่างชนชั้นแทนการต่อสู้ทางชนชั้นตามแนวความคิดของมากซ์ และให้ชนชั้นแรงงานมีบทบาททางการเมืองมากขึ้นโดยใช้วิถีทางรัฐสภาและให้เคลื่อนไหวอย่างสันติวิธี แนวความคิดของแบร์นชไตน์คล้ายคลึงกับความคิดของสมาคมเฟเบียน (Fabian Society)* ในอังกฤษ ที่ประชุมใช้เวลาส่วนใหญ่ของการประชุมอภิปรายโต้แย้งข้อเสนอของแบร์นชไตน์อย่างดุเดือดเผ็ดร้อน ผู้นำคนสำคัญในการคัดค้านลัทธิแก้ของแบร์นชไตน์คือ เอากุสท์ บาเบล คาร์ล เคาท์สกี (Karl Kautsky)* เปลฮานอฟ เลนิน ลักเซมบูร์ก และคนอื่น ๆ ลักเซมบูร์กคัดค้านแนวความคิดของแบร์นชไตน์อย่างแหลมคม เธอชี๋ให้เห็นว่าการก่อการปฏิวัติยังเป็นสิ่งที่ต้องผลักดันและจำเป็น และรัฐสภาคือกลยุทธ์ทางการเมืองของชนชั้นกลางที่ใช้หลอกลวงประชาชนซึ่งไม่อาจไว้วางใจได้บทบาทของลักเซมบูร์กในการปกป้องลัทธิมากซ์ทำให้เธอเป็นที่ยอมรับของนักสังคมนิยมยุโรปมากขึ้นในฐานะนักทฤษฎีลัทธิมากซ์แนวหน้าคนสำคัญ ที่ประชุมจึงมีมติประณามลัทธิแก้และยืนยันแนวทางปฏิวัติลัทธิมากซ์และการต่อสู้ทางชนชั้น ตลอดจนมีมติประณามนักการเมืองสังคมนิยมที่เข้าร่วมหรือสนับสนุนรัฐบาลนายทุนชนชั้นกลางตามข้อเสนอของชอง โชแซฟ มารี โอกูสต์ โชแรส (Jean Joseph Marie Auguste Jaurès)* ผู้นำพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส

 ในการประชุมใหญ่ครั้งนี้ ที่ประชุมได้นำปัญหาสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War ค.ศ. ๑๙๐๔-๑๙๐๕)* ที่กำลังดำเนินอยู่มาอภิปรายแสดงความคิดเห็นเนื่องจากกลุ่มการเมืองสังคมนิยมทั้งรัสเซียและญี่ปุ่นที่เป็นสมาชิกสากลที่ ๒ ต่างคัดค้านสงครามอย่างแข็งขัน ในระหว่างการอภิปรายเปลฮานอฟผู้แทนฝ่ายรัสเซียได้จับมือกับผู้แทนฝ่ายญี่ปุ่นอย่างเป็นมิตรและร่วมแถลงว่าทั้ง ๒ ฝ่ายจะสามัคคีกันเพื่อร่วมต่อสู้คัดค้านสงครามอย่างถึงที่สุด มีการเสนอให้เคลื่อนไหวนัดหยุดงานทั่วไปในกรณีที่เกิดสงครามขึ้นแต่มตินี้ก็ไม่ผ่านการรับรองจากที่ประชุมใหญ่ อย่างไรก็ตาม ปัญหาแนวทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองและพรรคสังคมนิยมต่าง ๆ ในกรณีที่เกิดสงครามก็กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากที่ประชุม ต่อมาเมื่อเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕ (Revolution of 1905)* ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St. Petersburg) ในรัสเซีย กรรมกรได้เคลื่อนไหวนัดหยุดงานทั่วไปและจัดตั้งสภาโซเวียตผู้แทนกรรมกร (Soviet of Workers’ Deputies) ขึ้นเพื่อบริหารปกครองตนเองการนัดหยุดงานทางการเมืองที่เกิดขึ้นมีส่วนทำให้ซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II)* ต้องยอมปฏิรูปทางการเมืองและจัดตั้งสภาดูมา (Duma)* ขึ้น องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ ซึ่งติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรัสเซียรวมทั้งในประเทศยุโรปอื่น ๆ ที่มีการเคลื่อนไหวนัดหยุดงานทั่วไปจึงมีมติให้การนัดหยุดงานทั่วไปเป็นรูปแบบหนึ่งของแนวทางการต่อสู้ของกรรมกรและเป็นอาวุธป้องกันตัวของกรรมกรในการเคลื่อนไหวทางการเมือง

 ใน ค.ศ. ๑๙๐๗ องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ จัดประชุมใหญ่ครั้งที่ ๗ ขึ้นระหว่างวันที่ ๑๘-๒๔ สิงหาคม ที่เมืองชตุทห์การ์ท (Stuttgart) เยอรมนี นับเป็นการประชุมกรรมกรโลกครั้งแรกด้วยเพราะมีผู้แทนพรรคการเมืองสังคมนิยม สหภาพแรงงาน และองค์การแรงงานต่าง ๆ รวม ๘๘๖ คนจาก ๒๕ ประเทศเข้าร่วมประชุม ก่อนหน้านั้นเล็กน้อย คลารา เซทคิน นักสังคมนิยมสตรีชาวเยอรมันได้ผลักดันการจัดประชุมระหว่างประเทศครั้งแรกของนักสังคมนิยมสตรี (First International Conference of Socialist Women) ขึ้นที่ชตุทท์การ์ทด้วย เพื่อผนึกกำลังของนักสังคมนิยมสตรีในยุโรปและวางแนวทางการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิและผลประโยชน์ของสตรีรวมทั้งให้ “ปัญหาสตรี” (Women Question) เป็นที่รับรู้และยอมรับกันมากขึ้นการประชุมดังกล่าวเป็นเสมือนการโหมโรงประชาสัมพันธ์ข่าวขบวนการสังคมนิยมยุโรปและการประชุมใหญ่ของสากลที่ ๒ ซึ่งกำลังจะมีขึ้น ในวันเปิดประชุมใหญ่ของสากลที่ ๒ มีการเดินขบวนสำแดงกำลังของกรรมกรจำนวน ๕,๐๐๐ คน ซึ่งทำให้บรรยากาศของการประชุมเต็มไปด้วยความคึกคักและมีชีวิตชีวา มีการนำเสนอรายงานจากผู้แทนประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับการเติบโตขององค์การกรรมกรในประเทศต่าง ๆ ในยุโรป และสรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมาตลอดจนวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนั้น มติสำคัญที่พิจารณาในการประชุมครั้งนี้คือ ปัญหาอาณานิคมและการขยายอำนาจของประเทศจักรวรรดินิยมในการเข้าครอบครองดินแดนต่าง ๆ พร้อมกับการจัดระบบการปกครองที่กดขี่ขูดรีดและทารุณป่าเถื่อนในหมู่ประชาชนใต้การปกครอง ที่ประชุมมีมติประณามนโยบายล่าอาณานิคมของประเทศทุนนิยมและให้เคลื่อนไหวทางความคิดเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงภัยของลัทธิจักรวรรดินิยม (Imperialism)*

 ประเด็นสำคัญของการประชุมครั้งนี้คือมาตรการคัดค้านภัยสงครามที่กำลังก่อตัวขึ้น ที่ประชุมเห็นว่าความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสกับจักรวรรดิเยอรมันในวิกฤตการณ์โมร็อกโก (Moroccan Crisis)* ค.ศ. ๑๙๐๕-๑๙๐๖ เป็นเสมือนเสียงคำรณเตือนภัยสงครามยุโรปครั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึงซึ่งทำให้กรรมกรทั่วทุกมุมโลกหวาดวิตก ที่ประชุมจึงเห็นความจำเป็นที่ต้องหามาตรการต่อต้านสงคราม และมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับมติการนัดหยุดงานทั่วไปว่าจะเป็นมาตรการที่พอเพียงในการต่อสู้คัดค้านสงครามหรือไม่ เลนินและลักเซมบูร์กได้ขอแปรญัตติว่าการต่อต้านสงครามจักรวรรดินิยมจะประสบความสำเร็จได้ก็ด้วยการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้น ในท้ายที่สุดที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับข้อเสนอของเลนินและลักเซมบูร์กที่ว่า ในกรณีเกิดสงครามให้เคลื่อนไหวต่อต้านสงครามและลัทธิทหารและพุ่งเป้าไปที่การใช้ประโยชน์จากวิกฤตการณ์ซึ่งเป็นผลจากสงครามมาเร่งการโค่นล้มรัฐบาลชนชั้นนายทุน

 ใน ค.ศ. ๑๙๑๐ องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ จัดประชุมใหญ่ครั้งที่ ๘ ขึ้นระหว่างวันที่ ๒๘ สิงหาคม -๓ กันยายน ที่กรุงโคเปนเฮเกน (Copenhagen) เดนมาร์กเพื่อพิจารณาว่าหากสงครามเกิดขึ้นในยุโรปควรจะมีการกำหนดนโยบายการเคลื่อนไหวอย่างไร ที่ประชุมได้วิเคราะห์สถานการณ์ทั่วไปในยุโรปและประเมินว่าการผนวกบอสเนียชองออสเตรียใน ค.ศ. ๑๙๐๘ อาจนำไปสู่การเกิดสงครามในคาบสมุทรบอลข่าน และการแข่งขันเสริมสร้างกำลังอาวุธทางทะเลระหว่างอังกฤษกับเยอรมนีซึ่งทำให้ทั้ง ๒ ฝ่าย เพิ่มงบประมาณจำนวนมากในการสร้างเรือประจัญบานชนาดใหญ่ประเภทเดรดนอต (Dreadnought)* ก็มีส่วนสร้างบรรยากาศตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศซึ่งอาจนำไปสู่สงครามได้ ที่ประชุมจึงมีมติยืนยันการต่อต้านสงครามและเน้นมติที่ชตุทท์การ์ทในการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสังคมนิยมในกรณีที่เกิดสงครามใหญ่ขึ้น ที่ประชุมกำหนดการจัดประชุมใหญ่ครั้งที่ ๙ ขึ้นที่กรุงเวียนนาใน ค.ศ. ๑๙๑๔ ซึ่งจะเป็นปีครบรอบวาระ ๒๕ ปีของการสถาปนาองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ โดยกำหนดจะให้เป็นการประชุมครั้งใหญ่ที่พิเศษสุดกว่าครั้งใด ๆ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเอกฉันท์สนับสนุนมติของการประชุมระหว่างประเทศครั้งที่ ๒ ของนักสังคมนิยมสตรี (Second International Conference of Socialist Women) ระหว่างวันที่ ๒๕-๒๖ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๐๗ ที่กำหนดให้วันที่ ๘ มีนาคมของทุกปีเป็นวันสตรีสากล

 อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศที่เกิดจากวิกฤตการณ์โมร็อกโกครั้งที่ ๒ ค.ศ. ๑๙๑๑ หรือที่เรียกว่าวิกฤตการณ์อากาดีร์ (Agadir Crisis) ได้ทำให้ความวิตกกังวลว่าจะเกิดสงครามขยายตัวไปทั่วยุโรปตลอดช่วงฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. ๑๙๑๑ แม้วิกฤตการณ์ครั้งนี้จะยุติลงได้ด้วยดีในต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๑ แต่เยอรมนีก็ไม่พอใจเกี่ยวกับสถานภาพของโมร็อกโกที่เป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสและหวาดระแวงในความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างอังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย ความตึงเครียด ทางการเมืองระหว่างประเทศจึงยังไม่บรรเทาลงมากนักต่อมาอิตาลีก็ก่อสงครามกับตุรกีหรือจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* เพื่อแย่งชิงตริโปลีเตเนีย (Tripoli-tania) และซิเรเนกา [Cyrenaica - ปัจจุบันคือลิเบีย (Libya)] ในแอฟริกาเหนือ (กันยายน ค.ศ. ๑๙๑๑ - ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๒) สงครามอิตาลี-ตุรกี (Italo-Turkish War) ทำให้ประเทศในคาบสมุทรบอลข่านเห็นเป็นโอกาสก่อสงครามกับตุรกีเพื่อแย่งชิงดินแดนออตโตมันและนำไปสู่สงครามบอลข่าน (Balkan War)* ครั้งที่ ๑ (ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๒ - พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๑๓) สงครามทำให้องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ เรียกประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นที่เมืองบาเซิืล (Basel) ใกล้ชายแดนระหว่างฝรั่งเศสกับสวิตเซอร์แลนด์ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๒ เพื่อกำหนดมาตรการพิทักษ์ผลประโยชน์ของกรรมกรและธำรงสันติภาพของโลก ที่ประชุมได้ออกแถลงการณ์บาเชิลกล่าวเตือนภัยจากสงครามบอลข่านที่อาจขยายตัวและเรียกร้องให้พรรคสังคมนิยมและสหภาพแรงงานในประเทศต่าง ๆ คัดค้านสงครามและหาทางหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศตลอดจนเรียกร้องประเทศมหาอำนาจไม่ให้แทรกแซงในปัญหาบอลข่าน แถลงการณ์จบลงด้วยการยํ้าให้กรรมกรทั่วโลกผนึกกำลังกันอย่างเข้มแข็งและเด็ดเดี่ยวเพื่อต่อต้านมาตรการทุกประการที่จะนำไปสู่สงคราม

 อย่างไรก็ตาม เมื่ออาร์ชดุ๊กฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ (Francis Ferdinand)* มกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire)* และพระชายาถูกลอบปลงพระชนม์ขณะเสด็จประพาสกรุงเซราเยโว (Sarajevo) นครหลวงของบอสเนีย เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๔ ซึ่งเป็นชนวนนำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ต่อมาเยอรมนีซึ่งเป็นพันธมิตรของออสเตรีย-ฮังการีตามสนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี (Dual Alliance ค.ศ. ๑๘๗๙)* ได้ประกาศสงครามต่อรัสเซียและฝรั่งเศสในต้นเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ การประกาศสงครามของเยอรมนีทำให้พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันเปลี่ยนจุดยืนทางการเมืองจากการคัดค้านสงครามมาสนับสนุนนโยบายทำสงครามของไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ (William II)* ด้วยข้ออ้างว่าสงครามที่เกิดขึ้นเป็นสงครามประชาชาติและเป็นสงครามที่ชอบธรรมซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องปกป้องปิตุภูมิจากการรุกรานของทรราชรัสเซียและพันธมิตร พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันจึงออกเสียงสนับสนุนการเพิ่มงบประมาณทางทหารและเห็นชอบกับการทำสงคราม และมีคาร์ล ลีบเนชท์ ผู้นำปีกซ้ายของพรรคเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ออกเสียงคัดค้าน ซึ่งต่อมาเขาก็ถูกจำคุก ในเวลาเดียวกันพรรคสังคมนิยมและสหภาพแรงงานในประเทศยุโรปอื่น ๆ ยกเว้นพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียและพรรคสังคมนิยมเซอร์เบียก็ประกาศสนับสนุนนโยบายทำสงครามของรัฐบาลในประเทศตนด้วย การสนับสนุนนโยบายทำสงครามของพรรคสังคมนิยมต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ ได้ทำให้แถลงการณ์บาเซิลหมดความหมายลง และทำให้องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ แตกแยก พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียซึ่งมีเลนินเป็นผู้นำกล่าวโจมตีพรรคสังคมนิยมและสหภาพแรงงานที่สนับสนุนสงครามว่าเป็นพวก “ลัทธิคลั่งชาติ” (Chauvinism) ที่สลัดเสื้อคลุมลัทธิมากซ์ทิ้งโดยสวมจิตวิญญาณของนักชาตินิยมชนชั้นนายทุน ทั้งทำให้องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ แตกสลาย

 ใน ค.ศ. ๑๙๑๕ กลุ่มนักสังคมนิยมยุโรปที่ต่อต้านสงครามพยายามผลักดันการจัดประชุมระหว่างประเทศขึ้นเพื่อกดดันให้สำนักงานสังคมนิยมสากลดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับสมาชิกพรรคสังคมนิยมต่าง ๆ ที่สนับสนุนสงคราม การประชุมมีขึ้นระหว่างวันที่ ๕-๘ กันยายนที่ หมู่บ้านซิมเมอร์วัลด์ (Zimmerwald) ซึ่งอยู่ใกล้กับกรุงเบิร์น (Berne) สวิตเซอร์แลนด์ มีผู้แทนนักสังคมนิยมที่เป็นกลางจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมประชุมรวม ๓๘ คน ผลสำคัญของการประชุมครั้งนี้คือ มีการออกแถลงการณ์ซิมเมอร์วัลด์ (Zimmerwald Manifesto) ซึ่งเลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* นักลัทธิมากซ์อิสระชาวรัสเซียเป็นผู้ร่างเนื้อหาของแถลงการณ์ว่าด้วยการวิเคราะห์โจมตีประเทศจักรวรรดินิยมที่เป็นต้นเหตุของสงครามและพรรคสังคมนิยมในประเทศต่าง ๆ ที่สนับสนุนสงครามตลอดจนเรียกร้องให้ยุติสงครามที่กำลังดำเนินอยู่ โดยยึดหลักการกำหนดการปกครองตนเองของประชาชน (self-determination of the people) ที่ไม่มีทั้งการยึดครองดินแดนและค่าปฏิกรรมสงคราม ตลอดจนเรียกร้องให้กรรมกรผนึกกำลังกันต่อต้านสงคราม การประชุมที่ซิมเมอร์วัลด์นับเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ชบวนการสังคมนิยมยุโรปเพราะทำให้กรรมกรในประเทศต่าง ๆ รับรู้ว่ามีการเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามในระดับนานาชาติ หนังสือพิมพ์สังคมนิยมทั่วยุโรปสดุดีการประชุมครั้งนี้ว่าเป็นก้าวแรกของขบวนการต่อต้านสงครามทางสากลและซิมเมอร์วัลด์ได้กอบกู้ชื่อขององค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ ไร้ได้

 ในเดือนกันยายนปีต่อมา มีการจัดประชุมซิมเมอร์วัลด์ครั้งที่ ๒ ขึ้นที่เมืองคีนทาล (Kienthal) สวิตเซอร์แลนด์มีผู้แทนกลุ่มและพรรคสังคมนิยม ๔๓ คน จาก ๑๐ ประเทศ เข้าร่วมประชุม ผลของการประชุมครั้งนี้คือ มีการออกแถลงการณ์คีนทาล (Kienthal Manifesto) ยํ้าหลักการของแถลงการณ์ซิมเมอร์วัลด์ ค.ศ. ๑๙๑๕ และเรียกร้องให้กรรมกรประเทศต่าง ๆ เคลื่อนไหวทุกรูปแบบเพื่อยุติสงครามและให้ผู้แทนพรรคสังคมนิยมในแต่ละประเทศทบทวนเรื่องการสนับสนุนนโยบายสงครามและให้คัดด้านการเพิ่มงบประมาณทางทหาร เลนินผู้นำพรรคบอลเชวิคซึ่งเป็นแกนนำคนสำคัญในการเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามได้เสนอแนะให้ใช้เงื่อนไขของสงครามให้เป็นประโยชน์ต่อการปฏิวัติด้วยการเปลี่ยนสงครามจักรวรรดินิยมให้เป็นสงครามกลางเมือง และหาจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมเพื่อก่อการปฏิวัติยึดอำนาจทางการเมือง ทั้งให้ก่อตั้งองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International)* ขึ้นแทนองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ ซึ่งหมดบทบาทและอิทธิพลลง แม้ข้อเรียกร้องของเลนินจะยังไม่เป็นที่ยอมรับกันมากนักในหมู่นักสังคมนิยมยุโรปในเวลานั้นแต่ก็เป็นที่ประจักษ์กันชัดเจนว่าสากลที่ ๒ ได้ยุติบทบาท และยุบเลิกลงโดยปริยายใน ค.ศ. ๑๙๑๖

 หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ กลุ่มสังคมนิยมในประเทศยุโรปตะวันตกที่ต่อต้านรัฐบาลโซเวียตพยายามรวมตัวกันเพื่อให้องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ ฟื้นคืนและมีบทบาทในระดับสากลอีกครั้งหนึ่ง มีการจัดประชุมขึ้นที่นครเจนีวาสวิตเซอร์แลนด์ ในต้น ค.ศ. ๑๙๒๐ แต่ประสบความสำเร็จไม่มากนัก เพราะมีเพียงผู้แทนพรรคสังคมนิยมที่เคยเป็นสมาชิกสากลที่ ๒ จำนวนน้อยเข้าร่วมประชุมด้วย นอกจากนี้ ในช่วงเวลาเดียวกันรัฐบาลโซเวียตก็ผลักดันการประชุมใหญ่ ชาวสังคมนิยมขึ้นที่กรุงมอสโกระหว่างวันที่ ๒-๔ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ เพื่อจัดตั้งองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ และสามารถก่อตั้งองค์การดังกล่าวขึ้นได้สำเร็จ โดยถือว่าเป็นองค์การที่สืบทอดอำนาจจากองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๑ ทั้งให้เรียกชื่อองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ ใหม่ว่าโคมินเทิร์น (Comintern)* กรีกอรี ซีโนเวียฟ (Grigori Zinoviev)* ซึ่งเป็นกรรมการกลางพรรคบอลเชวิคได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโคมินเทิร์น และคาร์ล ราเดค (Karl Radek)* สหายสนิทคนหนึ่งของตรอตสกีเป็นเลขาธิการ องค์การโคมินเทิร์นจึงมีบทบาทและอิทธิพลสำคัญในขบวนการสังคมนิยมและทำให้ความหวังที่จะรื้อฟื้นสากลที่ ๒ ให้มีบทบาทอีกครั้งดับสูญไปอย่างสิ้นเชิง

 อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. ๑๙๒๓ กลุ่มสังคมนิยมที่ยังจงรักภักดีต่อสากลที่ ๒ ได้พยายามผนึกกำลังกับพรรคสังคมนิยมในประเทศยุโรปต่าง ๆ ที่ต่อต้านองค์การโคมินเทิร์นจัดตั้งองค์การสังคมนิยมและกรรมกรระหว่างประเทศ (Labour and Socialist International) ขึ้นได้สำเร็จวัตถุประสงค์สำคัญขององค์การคือการเคลื่อนไหวต่อต้านอิทธิพลของสหภาพโซเวียตในองค์การโคมินเทิร์นและเรียกร้องให้พรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศยุโรปต่าง ๆ ดำเนินนโยบายที่เป็นอิสระจากสหภาพโซเวียต การดำเนินงานขององค์การสังคมนิยมและกรรมกรระหว่างประเทศประสบความสำเร็จไม่มากนัก ต่อมา เมื่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party; Nazi Party)* บุกโปแลนด์ใน ค.ศ. ๑๙๓๙ ซึ่งนำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เยอรมนีสามารถยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของยุโรปได้ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ และดำเนินการปราบปรามกลุ่มสังคมนิยมในประเทศที่ยึดครองอย่างเด็ดขาด องค์การสังคมนิยมและกรรมกรระหว่างประเทศจึงถูกยุบ.



คำตั้ง
Second International
คำเทียบ
องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒
คำสำคัญ
- การกำหนดการปกครองตนเองของประชาชน
- การทลายคุกบาสตีย์
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
- แกด, ชูล
- ครีเชฟสกี, บอริส
- เคาท์สกี, คาร์ล
- โคมินเทิร์น
- โชแรส, ชอง โชแซฟ มารี โอกูสต์
- ซีโนเวียฟ, กรีกอรี
- เซทคิน, คลารา
- เดรดนอต
- ตรอตสกี, เลออน
- แถลงการณ์คีนทาล
- แถลงการณ์ซิมเมอร์วัลด์
- บอลเชวิค
- เปลฮานอฟ, เกออร์กี
- พรรคนาซี
- พรรคบอลเชวิค
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติ
- พรรคสังคมนิยม
- พรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส
- พรรคสังคมประชาธิปไตย
- พวกลัทธิฉวยโอกาสเอียงขวา
- มากซ์, คาร์ล
- เมนเชวิค
- ราเดค, คาร์ล
- ลักเซมบูร์ก, โรซา
- ลัทธิแก้
- ลัทธิคลั่งชาติ
- ลัทธิจักรวรรดินิยม
- ลัทธิมากซ์
- ลัทธิสากลนิยม
- ลัทธิอาณานิคม
- ลีบเนชท์, คาร์ล
- วันสตรีสากล
- วิกฤตการณ์โมร็อกโก
- วิกฤตการณ์อากาดีร์
- แวย็อง, เอดูอาร์
- สงครามบอลข่าน
- สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สงครามอิตาลี-ตุรกี
- สนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี
- สภาโซเวียตผู้แทนกรรมกร
- สภาดูมา
- สมาคมเฟเบียน
- สวิตเซอร์แลนด์
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๑
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓
- องค์การโคมินเทิร์น
- ออสเตรีย-ฮังการี
- เองเงิลส์, ฟรีดริช
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1889-1914
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๓๒-๒๔๕๗
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-